หน้าเว็บ

27 กรกฎาคม 2554

เกษตรก้าวหน้า & เกษตรดั้งเดิม โดย ดร.อาชว์ เตาลานนท์

         ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 130.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.62 ของพื้นที่ทั้งประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ ในจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรดังกล่าวเป็นพื้นที่นาประมาณ 63.4 ล้านไร่ โดยแต่ละปีปลูกข้าวนาปีประมาณ 57 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 11 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่พืชไร่มีประมาณ 27.5 ล้านไร่ พื้นที่ไม้ผลยืนต้น 27.7 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพืชอื่น ๆ 

         ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ในสินค้าอาหารที่สำคัญได้แก่ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้

         ขณะที่วิวัฒนาการของฐานการผลิตการเกษตรของประเทศไทย ในระยะแรกเป็นการขยายตัวโดยเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นปัจจัยหลักในกระบวนการผลิตก่อนที่จะปรับตัวสู่การใช้องค์ประกอบด้านเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันการทำเกษตรของไทย เดินอยู่บน 2 แนวทางคือเกษตรแบบดั้งเดิมเพื่อดำรงชีวิต และเกษตรก้าวหน้าเพื่อค้าขาย

          การทำเกษตรแบบดั้งเดิม คือ การที่เกษตรกรเลือกที่จะทำการเกษตรตามวิถีชีวิตพออยู่พอกิน เพื่อดำรงชีวิตตามอัตภาพหรือใช้ชีวิตตามระบบเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองได้ การทำเกษตรแบบนี้เกษตรกรจะปลูกพืช ผักหลายประเภทหมุนเวียนตามฤดูกาล ตามความเหมาะสม โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะค้าขายทำกำไรมากมาย ซึ่งพืชที่เหมาะสมกับการทำเกษตรดั้งเดิมต้องไม่เน่าเสียงาย สามารถเก็บผลผลิตไว้จำหน่ายได้ภายหลัง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการตลาด เช่นการปลูกข้าวหรือยางพารา ที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องขายผลผลิตในทันทีที่เก็บเกี่ยว เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตไว้จำหน่ายในช่วงเวลาที่เกษตรพอใจราคา

         ขณะที่เกษตรก้าวหน้า คือการที่เกษตรกรเลือกทำการเกษตรเพื่อค้าขายเชิงธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่อง “ทุนและองค์ความรู้” (Capital & Knowledge) ที่ต้องทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิต ตั้งแต่การใช้พันธุ์ดี ดูแลจัดการฟาร์ม จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีการพัฒนาควบคุมคุณภาพในกระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรม และการบรรจุหีบห่อให้ได้มาตรฐานสากล อยู่ในกระบวนการห่วงโซ่อาหาร (Value Chain) เช่น การปลูกสับปะรด อ้อย ที่เกษตรกรจำเป็นต้องอยู่ในระบบ Value Chain เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิต แปรรูป และส่งออก หากเกษตรกรไม่อยู่ในระบบผลผลิตที่ได้ก็จะไม่มีช่องทางในการจำหน่าย เช่นเดียวกับการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ในปัจจุบันที่กลายเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว เกษตรกรควรเลี้ยงในลักษณะ Contract Farming โดยมีเอกชนเข้ามาดูแลในเรื่องวิชาการ ช่องทางการตลาดให้ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรทางหนึ่ง

          ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำการเกษตรทั้ง 2 แนวทางควบคู่กันทั้งเกษตรดั้งเดิมและเกษตรก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงของกระแสการค้าโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าเกษตรก้าวหน้าจะไปทำลายระบบเกษตรดั้งเดิมแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าการไทยจะเปลี่ยนระบบการทำเกษตรไปในเชิงธุรกิจทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากกำลังความสามารถของไทยยังไม่เพียงพอทั้งในเรื่องความรู้เชิงวิชาการ เทคโนโลยีทางการเกษตร การตลาด เงินทุน และในขณะเดียวกันเกษตรกรไทยจำนวนหนึ่งยังไม่เข้มแข็ง

          การทำเกษตรในลักษณะ Contract Farming ปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าจะทำให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเงื่อนไขของภาคเอกชน เพราะการทำ Contract Farming เป็นแนวทางหนึ่งในการเกษตรที่เกษตรกร และบริษัทเอกชน โดยเกษตรกรใช้ความชำนาญในการเพาะปลูกและเลี้ยงดู ขณะที่เอกชนเป็นผู้ทำการตลาดเสาะแสวงหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้เกษตรกร ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกันเกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน จากการรับประกันราคาของเอกชน

          เกษตรกรดั้งเดิม หรือเกษตรก้าวหน้า ต่างมีข้อจำกัดข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งผลผลิตจะเป็นตัวกำหนดว่าควรทำเกษตรแบบไหน แต่หัวใจสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองว่าต้องการที่จะทำการเกษตรดั้งเดิม หรือทำการเกษตรแบบก้าวหน้า หากเลือกที่จะทำเกษตรแบบดั้งเดิม ก็ต้องพอใจกับผลผลิต รายได้ที่ได้รับ เพราะถ้าเลือกทำเกษตรแบบดั้งเดิม แต่เกษตรกรต้องการรายได้จำนวนมากเหมือนเกษตรก้าวหน้า นั่นย่อมทำให้เกษตรกรไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่มีความชำนาญ การตลาดอยู่ในวงจำกัด แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรที่เลือกทำการเกษตรแบบก้าวหน้าจะประสบความสำเร็จเสมอไป

          ในเวทีการค้าโลก ไทยยังมีโอกาสและมีศักยภาพสูงที่จะยกระดับการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทย ให้เป็นที่หนึ่ง เนื่องจากไทยมีสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อีกทั้งเกษตรกรไทยมีความพร้อม เพียงแต่วันนี้ไทยยังใช้ศักยภาพที่มีอยู่ไม่เต็มที่



ดร.อาชว์ เตาลานนท์
ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย
รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์/ทรู คอร์ปอเรชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น