แนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวไว้คือ สูงแรก : เน้นว่า "ราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูง" เพราะเหตุผลที่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวสำคัญต่ออุปสงค์/อุปทาน หรือ DEMAND/SUPPLY ของสินค้าเกษตร โดยการอาศัย "กลไกตลาด" เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ราคาสินค้าเกษตรในประเทศต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว แต่ราคาถูกกระทบและบิดเบือน ด้วยสาเหตุ 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก "การที่ DEMAND สูง แต่ SUPPLY สินค้าเกษตรผลิตไม่ทันหรือไม่เพียงพอ" โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออก ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีเศรษฐกิจและรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ประเทศกลุ่มนี้กลายเป็นประเทศที่นำอาหารและสินค้าเกษตรเข้าสุทธิ และทำให้ราคาสูงขึ้นทั่วโลก
เช่นเดียวกับปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกมีเพียง 80 ล้านบาร์เรล/วัน แต่มีความต้องการใช้มากถึง 83 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น และอาจจะถึง $200 ต่อบาร์เรลอีกในไม่ช้า หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า โลกจะไม่มี "ยุคอาหารและน้ำมันถูกอีกต่อไป"
ในการนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศดำเนิน "นโยบายเข้ามาแทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด" ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงมีปัญหาขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น การขายข้าว "ราคาถูก" หรือ "กดราคาพลังงานให้ถูก" ซึ่งจะกลายเป็น "ระเบิดเวลา" ทำให้เกิดปัญหาตามมามากยิ่งขึ้นในอนาคต
ประการที่ 2 "การเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ของกองทุน HEDGE FUND" ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ทั้งนี้ เพราะว่า กองทุน HEDGE FUND เหล่านี้ ได้เปลี่ยนจากการเก็งกำไรใน "ตลาดหุ้นและตลาดเงินตรา" มาเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่าอนาคตของสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวมีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการเก็งกำไรของกองทุนซื้ออนาคตเหล่านี้ได้สร้างความบิดเบือนราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประการที่ 3 "การที่นโยบายของรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร" โดยรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่ร่ำรวยต่างก็ดำเนินนโยบายอุดหนุน (SUBSIDIES) และแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ ขึ้น จึงทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และสร้างความวุ่นวายให้กับกลไกตลาด โดยพยายามจะกดดันให้ราคาสินค้าถูกไว้
ตัวอย่างเช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เดิมสามารถส่งออกข้าวออกไปต่างประเทศ แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงราคาข้าว ทำให้ข้าวในประเทศมีราคาถูก ส่งผลให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว จนทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก คือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ นายโรเบิร์ต เซลลิก (ROBERT B. ZOELLICK) ประธานธนาคารโลก เป็นอีกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ "ไม่ควรใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตรและอาหาร" เพราะนั่นหมายถึง "การฝ่าฝืนกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคาไปเป็นอย่างมาก จึงเกิดการขาดแคลนขึ้น"
ประการสุดท้าย ผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING)" ในปัจจุบันส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน (CLIMATE CHANGE) กระทบต่อผลิตผลด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตอาหารลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก จึงส่งผลให้พืชเกษตรและอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดังนั้น สูงที่ 1 คือ "ราคาสินค้าเกษตรสูง" คือ การปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตาม DEMAND & SUPPLY และกลไกตลาด รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือควบคุมราคา ทำให้เกิดการบิดเบือนและไม่ได้ผล
สูงที่ 2 คือ "รายได้หรือค่าจ้างของประชาชนจะต้องสูง" ให้สัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตามแนวคิด "ทฤษฎีสองสูง" จะมุ่งเน้นรายได้ประชาชน 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) เกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องทำให้มีรายได้สูงขึ้น 2) รายได้ ข้าราชการ และผู้ใช้แรงงานในเมือง ก็จะต้องสูงขึ้นเช่นกัน
การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรใน "ชนบท" นั้น หากปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาดนั้น รายได้ของเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น จะมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของไทยขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมด้าน "การยกระดับภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น" รัฐควรให้ความสำคัญกับการทำ "เกษตรแบบดั้งเดิม" คือ เกษตรกรรายย่อย โดยการเข้าไปลงทุนพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเกษตร อาทิเช่น ขยายระบบชลประทาน ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และจัดระบบโลจิสติกส์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสี่ยง และเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกรให้ได้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ "เกษตรแบบดั้งเดิม" ได้พัฒนาควบคู่กับ "การเกษตรแบบก้าวหน้า" ที่ภาคเอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยเข้มแข็งและมีฐานะรายได้ดีขึ้น
ในส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับคน "ในเมือง" หมายถึง รายได้ของผู้ใช้แรงงาน และข้าราชการที่มีรายได้ต่ำมากและไม่สัมพันธ์กับภาระด้านรายจ่ายตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น จึงควรเน้นพิจารณา "ปรับรายได้" ให้ "สัมพันธ์" กับ "ราคา" ที่สูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถอยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ประชาชนในช่วงนี้ก็จำเป็นจะต้องปรับวิถีชีวิตโดยเฉพาะ ในเรื่องการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยึดระบบเศรษฐกิจแบบ "พอเพียง" มาใช้
นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้สูงขึ้น ก็จะมีพลังการจับจ่ายใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเราได้มี "การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อไป
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า "ทฤษฎีสองสูง" เป็น "กฎเหล็ก" ทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้หรือใช้ได้จริง ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะนำแนวคิดทฤษฎีสองสูงมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาสูง เพราะไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีอาชีพเป็นเกษตรกร รัฐควรให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศไทย จะได้รักษาฐานะเป็น "อู่ข้าว" หรือ "ผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก" ต่อไป เพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม
อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น